แคลเซียมถูกค้นพบครั้งแรกโดยชายที่มีชื่อว่า เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวี (Sir Humphry Davy) นักเคมีชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1808 เขาแยกแคลเซียมออกมาได้โดยการใช้กระแสไฟฟ้าผ่านแคลเซียมออกไซด์ที่หลอมละลาย
แคลเซียมนั้นเป็นแร่ธาตุที่ถูกค้นพบขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน และภายหลัง ได้ค้นพบความสัมพันธ์ต่อสุขภาพ แคลเซียมจึงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น และมีการค้นหาแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมกันมากขึ้นเพื่อประโยชน์เชิงสุขภาพไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กๆ
แคลเซียม แร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของน้องๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาในส่วนของ กระดูกและฟัน นอกจากนี้ แคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ การแข็งตัวของเลือด และการควบคุมความดันโลหิต แคลเซียมจึงเปรียบเสมือน ฮีโร่ ที่ช่วยดูแลสุขภาพหนูๆนั่นเอง
จากคำแนะนำของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2563 ได้แนะนำปริมาณแคลเซียมสำหรับน้องๆ ไว้ดังนี้
เด็กอายุ 1-3 ปี: 500 มิลลิกรัมต่อวัน
เด็กอายุ 4-8 ปี: 800 มิลลิกรัมต่อวัน
เด็กอายุ 9-18 ปี: 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ประกอบไปด้วย นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส ปลาเล็กปลาน้อยที่สามารถรับประทานได้ทั้งกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ธัญพืชอย่าง งาขาว และ งาดำ และที่สำคัญ แคลเซียมยังสามารถพบในผักใบเขียว อย่างเช่น คะน้า ผักโขม บร็อกโคลี ได้อีกด้วย
การเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน: ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ร่างกายมีการสร้างมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอจะช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ: แคลเซียมมีส่วนช่วยในการส่งสัญญาณประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ
การป้องกันโรคกระดูกพรุนในอนาคต: การได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอในวัยเด็กจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนในวัยผู้ใหญ่ลงได้
ส่งเสริมให้เด็กๆดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเป็นประจำ
เพิ่มผักใบเขียวและอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงในมื้ออาหาร
ส่งเสริมให้น้องๆออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อช่วยในการสร้างวิตามินดี ซึ่งมีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมได้ดีมากขึ้น
หากลูกๆมีอาการแพ้นมวัว ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อหาแหล่งแคลเซียมทดแทน
ข้อควรระวัง: หากได้รับแคลเซียมมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น ท้องผูก นิ่วในไต และอาจรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุอื่นๆ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนจะให้อาหารเสริมแคลเซียมแก่น้องๆ
ข้อมูลอ้างอิง
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (2563) "ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563"
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (2564) "แนวทางการให้แคลเซียมในเด็ก"
สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย (2565) "ความสำคัญของแคลเซียมต่อการเจริญเติบโตของเด็ก"