0

โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงวัย


2022-08-09 10:13:00

           หลายคนอาจคิดว่าโรคกระดูกพรุนเป็นโรคธรรมดาที่ควรมองข้าม เพราะอาการของโรคไม่ได้แสดงออกมากนัก ผู้ป่วยรู้ตัวอีกทีก็เมื่อตัวเองได้รับอาการเจ็บป่วย เช่น หกล้ม แล้วกระดูกหัก เป็นต้น และในปัจจุบันกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเลยทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

มาทำความรู้จักโรคกระดูกพรุน อาการของโรค รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เพื่อที่จะช่วยให้หลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเกิดความรุนแรงของโรค เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวันได้


           โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่ร่างกายมีความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลงจนทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และแตกหักได้ง่ายบางรายทำให้ส่วนสูงลดลงด้วยเพราะกระดูกผุกร่อนรวมทั้งอาจไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ทนรับน้ำหนักแรงกระแทกหรือแรงกดได้น้อยลง เนื่องจากความเจ็บปวดจากรอยแตกร้าวภายใน หรืออาจเกิดการแตกหักของกระดูกส่วนสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้พิการได้อย่างบริเวณกระดูกสันหลังซึ่งเป็นศูนย์กลางเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว


อาการของโรคกระดูกพรุน

           ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมักจะทราบว่าตนป่วยเมื่อมีอาการแสดงไปแล้วและยังมีอาการบ่งชี้อื่นๆ ที่ควรใส่ใจสังเกตเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันการณ์ ดังนี้

  • กระดูกข้อมือ แขน สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหักได้ง่าย แม้ถูกกระแทกแบบไม่รุนแรง
  • หลังค่อม หรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง
  • ความสูงลดลง
  • อาจมีอาการปวดหลังเรื้อรังด้วย

โรคกระดูกพรุน


สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

           กระดูกจะมีเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ทำหน้าที่สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีนตามกระบวนการการเจริญเติบโตของร่างกายและคอยทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอ และมีเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายเนื้อกระดูกเก่า ส่วนโรคกระดูกพรุนเกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูกทั้ง 2 ชนิด จึงทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก โดยอาจเป็นเพราะมีปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก หรืออาจมีความผิดปกติของเซลล์กระดูก ทั้งนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้ เช่น

  • อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายจะเริ่มช้าลง การทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอก็จะช้าลงเช่นกัน
  • ฮอร์โมน การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิงอย่างการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็อาจทำให้กระดูกพรุนและเปราะบาง ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) น้อยลง
  • กรรมพันธุ์ หากพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดเคยป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย
  • ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับทำงานผิดปกติ เป็นต้น
  • โรคและการเจ็บป่วย เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ไต และกระเพาะ ลำไส้อักเสบ โรคทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน โรคความผิดปกติด้านการกิน โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคแพ้กลูเตน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคมะเร็งกระดูก เป็นต้น
  • พฤติกรรมการบริโภค กินอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล อย่างอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานาน
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ เป็นเวลานาน รวมทั้งการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหักโหมล้วนส่งผลต่อสุขภาพกระดูกทั้งสิ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้สูง
  • การใช้ยาบางชนิด ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ เป็นต้น เพราะตัวยาบางชนิดจะออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการสร้างกระดูก อย่างยาเพรดนิโซโลนที่มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและใช้รักษาอาการอักเสบ

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน


การรักษาโรคกระดูกพรุน  

           เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเกิดจากภาวะกระดูกเสื่อมที่มาจากหลายสาเหตุ วิธีรักษาจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

           1. การดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก  

บำรุงกระดูกและดูแลสุขภาพโดยทานอาหารที่มุคลเซียมและวิตามินดีสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ไม่ออกกำลังกายหรือใช้แรงกายอย่างหักโหม

           2. การเสริมแคลเซียม 

รับประทานยาเม็ดเสริมแคลเซียมและรับวิตามินดีที่ช่วยเสริมสร้างการดูดซึมแคลเซียม รวมทั้งรักษาระดับแคลเซียมในกระแสเลือด เพื่อรักษามวลกระดูกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

การรักษาโรคกระดูกพรุน

           3. การใช้ยารักษา 

อาจใช้ยา เช่น ยาอะเลนโดรเนท ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในกระบวนการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น ยาไรซีโดรเนท ซึ่งออกฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อกระดูก ลดอัตราการสลายตัวของกระดูก และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ยาไอแบนโดรเนท ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูกเช่นกัน โดยมีทั้งแบบเป็นเม็ดรับประทานและแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดโซลิโดรนิก แอซิด เข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ออกฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยแคลเซียมสู่กระแสเลือด และป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

           4. การเพิ่มฮอร์โมน 

อาจเพิ่มระดับฮอร์โมนบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก อย่างการฉีดหรือให้ยาเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนแก่ผู้ป่วยเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไป ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในระดับปกติ


การป้องกันโรคกระดูกพรุน  

           เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายๆ ดังนี้ 

           •    ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ใช้หักโหกจนเกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อกระดูก และควรตรวจสุขภาพอยู่สม่ำเสมอ

           •    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ บริโภคโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมทั้งโปรตีนจากพืชและสัตว์ และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งเป็นสารอาหารหลักที่สำคัญต่อการสร้างกระดูก โดยควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม น้ำส้ม เต้าหู้ งา กุ้งฝอย ปลาตัวเล็ก ถั่วต่าง ๆ และผักใบเขียวอย่างผักคะน้า ผักกระเฉด ใบยอ ใบชะพลู สะเดา กะเพรา ตำลึง เป็นต้น และอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ตับ ไข่แดง นม เนื้อ ปลาทู ฟักทอง เห็ดหอม เป็นต้น

           •    รับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้าเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในเลือด

           •    หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกรดสูง เช่นแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน

           •    ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้สารเสพติด

           •    ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา กลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • https://www.pobpad.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0

%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99

  • https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/osteoporosis-a-silent-danger

www.nowfoodsthailand.com

 

ตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่าย

ผลิตภัณฑ์ NOW FOODS อย่างเป็น

ทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย


Copyright ® 2022 www.nowfoodsthailand.com