เมทานอล (Methanol) จากในข่าวดังคือ? น่ากลัวแค่ไหน ทำไมคนที่ดื่มถึงอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิต แล้วแบบนี้ เราจะระมัดระวังกันอย่างไร ต้องขอเล่าให้ฟังก่อนว่า แอลกอฮอล์นั้นมีหลายชนิด ซึ่งในส่วนแอลกอฮอล์ที่เราๆดื่มกันนั้น มีชื่อเรียกว่า เอทานอล (Ethanol) ซึ่งสามารถดื่มได้
เอทานอล (Ethanol) นั้นเป็นแอลกอฮอล์ที่เกิดจากการหมักยีสต์กับวัตถุดิบธรรมชาติ หรือพืชต่างๆ เช่น อ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง นั่นเอง จึงทำให้แอลกอฮอล์ประเภทนี้สามารถสัมผัส กิน หรือเข้าสู่ร่างกายได้ และสามารถใช้ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับระดับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด
ในส่วนของเมทานอล (Methanol) หรือที่รู้จักในชื่อ เมทิลแอลกอฮอล์นั้น เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงต่อร่างกายมนุษย์หากได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจนำไปสู่อาการพิษรุนแรงและเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมทานอล มักจะถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายเคมีกับงานอุตสาหกรรม เช่น งานสีทาไม้ แลกเกอร์เคลือบไม้ น้ำมันเคลือบ น้ำยาล้างเล็บ ไปจนถึงการใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นงานภายนอก ไม่สามารถนำมาดื่มได้นั่นเอง
เมื่อเมทานอล (Methanol) เข้าสู่ร่างกายของเรา เมทานอลจะถูกเปลี่ยนเป็นฟอร์มาลดีไฮด์และกรดฟอร์มิก ซึ่งจะกลายเป็นเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง ได้แก่
ระบบประสาทส่วนกลาง: ปวดศีรษะ วิงเวียน สับสน ชัก และหมดสติ
ระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องรุนแรง
การมองเห็น: ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (Snowfield vision) และอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
ระบบหัวใจและหลอดเลือด: หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ
ไต: ไตวายเฉียบพลัน
ระบบเมตาบอลิซึม: ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผลิตอย่างผิดกฎหมาย
ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสมเมื่อต้องทำงานกับเมทานอล
เก็บผลิตภัณฑ์ที่มีเมทานอลเป็นส่วนประกอบให้พ้นมือเด็กและติดฉลากอย่างชัดเจน
เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การรักษาทำได้โดย หากสงสัยว่ามีการได้รับพิษจากเมทานอล ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน การรักษาอาจรวมถึงการให้ยาต้านพิษ เช่น เอทานอลหรือฟอมีพิโซล การฟอกเลือด และการรักษาตามอาการ ยิ่งเข้าถึงการรักษาได้ไว ก็อาจลดอาการรุนแรงของ เมทานอล (Methanol) ลงได้
ที่สำคัญที่สุด หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์ ควรเลือกจากแหล่งที่ปลอดภัยเชื่อถือได้ เพื่อให้เราสามารถมั่นใจในแหล่งที่มา เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล
World Health Organization. (2014). Methanol poisoning outbreaks.
Kraut, J. A., & Kurtz, I. (2008). Toxic alcohol ingestions: clinical features, diagnosis, and management. Clinical Journal of the American Society of Nephrology, 3(1), 208-225.
Barceloux, D. G., et al. (2002). American Academy of Clinical Toxicology practice guidelines on the treatment of methanol poisoning. Journal of Toxicology: Clinical Toxicology, 40(4), 415-446.