กลับมาอีกแล้วหรอ ในรอบ 2 ปี เห็นว่ามีข่าวจาก กรมควบคุมโรคของไทยที่ระบุว่า พบผู้ป่วยฝีดาษลิง รายแรกในไทย มาจากแอฟริกา มันจริงเท็จแค่ไหน น่ากลัวหรือไม่ แล้วเราจะระมัดระวังตัวกันได้อย่างไร ลองมาอ่านไปพร้อมๆกันได้ที่นี่
จากข่าวที่ออกมาเมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่ระบุว่า ในประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยโรค “ฝีดาษลิง” เดินทางเข้ามาในไทย ทางกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นเพียง “ผู้ป่วยต้องสงสัย” เพียงเท่านั้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณะสุขก็ต้องออกมาแจ้งเพื่อไม่ให้ประชาชนอย่างเราๆ ตื่นตระหนก แต่ๆๆๆ ด้วยความที่ NOWFOODSTHAILAND เป็นห่วงสุขภาพของผู้อ่านทุกๆคน วันนี้ก็เลยจะมาพูดกันถึงเรื่องของ “ฝีดาษลิง” ว่าเราจะเตรียมรับมือกับโรคนี้หรือดูแลคนที่เรารักได้อย่างไร
ฝีดาษลิง เกิดจาก เชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus พบได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น กระรอก หนูป่า สัตว์ฟันแทะต่างๆ ไม่ใช่แค่ลิงเพียงอย่างเดียว อย่างที่เราเข้าใจกัน แต่สามารถติดจากคนสู่คนได้ โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
อาการทั่วไปของโรคฝีดาษลิง ประกอบไปด้วย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองบวม มีผื่นที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งโดยทั่วไป เริ่มที่ใบหน้าและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย และพัฒนาจากจุดแบนไปเป็นตุ่มนูน จากนั้นกลายเป็นตุ่มน้ำในที่สุดจะกลายเป็นสะเก็ดและหลุดลอกออก โดยโรคนี้มักมีอาการนาน 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยผู้ที่มีอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็กเล็ก
ฝีดาษลิง สามารถติดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน หรือการประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย
เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง เราสามารถป้องกันด้วยวิธีการดังนี้
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นที่ดูคล้ายกับโรคฝีดาษลิง
หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
ล้างมือเป็นประจำ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
สวมอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากอนามัยส่วนบุคคล เมื่อดูแลผู้ติดเชื้อ
รับวัคซีนหากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงหรือได้รับการสัมผัสเชื้อ
โรคฝีดาษลิงฟังดูแล้ว อาจดูน่าตกใจถึงความรุนแรงและอาการของโรค ทั้งนี้ ถ้าเราหมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรง ล้างมือเป็นประจำ รักษาความสะอาด สวมหน้ากากอนามัย ไม่เดินทางไปในสถานที่ที่มีการแพร่ระบาด ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ หรือจะหาตัวส่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ก็เป็นสิ่งที่ถ้าเราทำเป็นประจำ ก็สามารถทำให้เรามีภูมิสู้กับทุกๆสถานการณ์ได้ อย่างเข้มแข็งและแข็งแรง
อ้างอิงข้อมูล
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2565). แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคฝีดาษลิง.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2565). การจัดหาและการใช้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย.